ทำความรู้จักกับ เทคนิคเบรนด์สตรอม (Brainstorm) ที่ถูกต้อง จะได้ไม่เสียเวลาประชุมฟรีๆ
“การค้นหาไอเดีย” ถือเป็นเรื่องที่หลายๆองค์กรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆในการทำงาน เพราะไอเดียที่ได้มานั้นมักจะนำมาซึ่งประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิธีการทำงาน, วิธีแก้ปัญหา เป็นต้น ประโยชน์ที่ว่านี้สามารถเรียกรวมๆกันได้ว่า วิธีสร้างผลกำไรให้กับองค์กรนั่นเอง วันนี้ Meet in Touch จะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งวิธีค้นหาไอเดีย การระดมความคิด หรือที่หลายคนเรียกว่า Brainstorming นั่นเอง Brainstorming คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? ทำไมถึงควรรู้จักและเข้าใจ? ไปร่วมหาคำตอบพร้อมๆกันเลย!
Table of Contents
BRAINSTORMING คืออะไร?
การทำ Brainstorm คือ การระดมสมองร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้เกิดชุดความคิดใหม่ๆ โดยการเปิดกว้างอย่างอิสระในการเสนอความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม Brainstorm ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่ดูเป็นไปไม่ได้ หรือดูแปลกไปจากความเป็นจริงก็ตาม หลังจากนั้นจึงนำชุดความคิดดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป
ซึ่งหลักการสำคัญที่ใช้ในการทำ Brainstorm ตามหลักการของ อเล็กซ์ ออสบอร์น มีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน คือ
ข้อแรก อย่าเพิ่งตัดสินความคิดที่ดูแตกต่าง เพราะการด่วนตัดสินเป็นการจำกัดความคิดให้อยู่ในกรอบเดิมๆ
ข้อที่สอง คือ เน้นปริมาณของความคิด เพราะยิ่งมีความคิดมาก ยิ่งทำให้เกิดแนวทางในการแก้ปัญหามากขึ้น และสามารถหาแนวทางที่ดีที่สุดได้
วิธีการทำ BRAINSTORM เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้จริง
การทำ Brainstorm เป็นวิธีการที่นิยมใช้ในการแก้ปัญหามากที่สุด แต่หลายๆครั้ง การ Brainstorm กลับไม่เกิดประโยชน์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และยังทำให้เสียเวลาไปกับการประชุมเป็นอย่างมากอีกด้วย ดังนั้นมาดูกันดีกว่าว่า จะมีวิธีอย่างไรให้ การ Brainstorm ของคุณมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
Trick Brainstorm Step 1: ระบุปัญหาที่ต้องการแก้ไขให้ชัดเจน
ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดก่อนการทำ Brainstorm แต่หลายครั้งที่กลับถูกมองข้ามไป จนทำให้ไปไม่ถึงจุดหมายของการทำ Brainstorm นั่นคือการระบุหรือเจาะจงปัญหาที่เราต้องการแก้ไขให้ชัดเจน อย่างเช่น จากเดิมที่เคยระบุปัญหาว่า โปรเจคชิ้นนี้ติดปัญหาคือ ไม่สามารถทำต่อได้เนื่องจากเงินไม่พอ แต่ให้เปลี่ยนเป็นระบุปัญหาว่า โปรเจคชิ้นนี้ติดปัญหาเรื่องงบประมาณในการดำเนินการต่ออีก 2 ล้านบาท เพื่อให้เห็นชัดว่า ขาดเงินอีก 2 ล้านบาท และจะได้ทำการ Brainstorm เพื่อหาวิธีในการหางบประมาณอีก 2 ล้าน หรือหากปัญหามีมากกว่าหนึ่งเรื่อง ก็ให้เราระบุออกมาเป็นเรื่องๆ ที่ชัดเจน จะได้หาทางออกให้กับแต่ละปัญหาได้อย่างตรงเป้าหมายนั่นเอง
Trick Brainstorm Step 2: ระบุขอบเขตของวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหา
ขั้นตอนต่อมาคือการเอาปัญหามาแจกแจงและระบุวัตถุประสงค์ที่เป็นไปได้ให้มากที่สุด เช่น บริษัทแห่งหนึ่ง หลังทำการสำรวจตลาดแล้วต้องการผลิตกระเป๋าเดินทางเพื่อวางจำหน่าย เมื่อรู้ปัญหาแล้วคือการคิดผลิตสินค้าเป็น “กระเป๋าเดินทาง” ต่อมาให้ระบุขอบเขตวัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหา เช่น กระเป๋าเดินทางที่ทนทานต่อแรงกระแทก และราคาสมเหตุสมผล เป็นต้น การระบุวัตถุประสงค์ให้ละเอียดลงไป เป็นวิธีที่จะทำให้เรามองเห็นภาพของปัญหาที่ต้องการแก้ไขชัดเจนมากขึ้น และจะได้เลือกใช้วิธีที่ถูกทาง
Trick Brainstorm Step 3: ผู้เข้าร่วมประชุมต้องสร้างชุดความคิดของตัวเอง
อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้การทำ Brainstorm ไม่ประสบความสำเร็จ คือเมื่อมีผู้บริหารหรือใครคนใดคนหนึ่งนำเสนอวัตถุประสงค์ หรือชุดความคิดใดออกมาแล้ว คนส่วนใหญ่ที่เหลือมักไปโฟกัสอยู่กับชุดความคิดนั้นๆ และเกิดความคล้อยตาม ทำให้วัตถุประสงค์ และวิธีการแก้ปัญหาถูกจำกัดขอบเขตโดยไม่รู้ตัว
วิธีการแก้ไขคือ ให้แต่ละคนคิดแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาในมุมของตัวเองก่อน อย่าปิดกั้นความคิดของตัวเองด้วยความคิดของคนอื่น หลังจากนั้นให้เขียนลงในกระดาษ ก่อนนำเสนอให้ทุกคนทราบพร้อมกัน นี่จะเป็นวิธีหนึ่งในการทำลายกำแพงทางความคิดได้นั่นเอง
Trick Brainstorm Step 4: นำความคิดทั้งหมดมาทำการ Brainstorm
เมื่อเรารู้ “ปัญหา” “วัตถุประสงค์” และ“มีชุดความคิดของแต่ละคน”แล้ว ก็ถึงขั้นตอนระดมสมอง หรือการทำ Brainstorm ต่อไป โดยกระบวนการระหว่างการทำ Brainstorm จะต้องกำหนดผู้ดำเนินการขึ้นมาหนึ่งคน และมีหลักการในการทำการ Brainstorm ดังนี้
- ไม่วิพากษ์วิจารณ์ความคิด เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลาย
- เปิดกว้างทางความคิดอย่างอิสระ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเสนอ
- เน้นปริมาณความคิด ยิ่งมากยิ่งเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายของการแก้ปัญหา
- วิเคราะห์และจัดชุดความคิด หรือประเมินผลเพื่อให้ได้แนวทางในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
- นำชุดความคิดที่ได้กลับมาทำการ Brainstorm อีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีความคิดใดตกหล่นอยู่
สิ่งที่เป็นปัญหาหลักของการทำการ Brainstorm ในหลายๆ ครั้ง คือจุดเริ่มต้นของการระบุปัญหา และบ่อยครั้งที่ปัญหาค่อนข้างคลุมเครือ ทำให้การระดมสมองเพื่อเดินไปสู่ทางแก้ไขจึงไม่ชัดเจนตามไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้การประชุมไม่เสียเปล่า และเกิดเป็นชุดความคิดใหม่ๆ ได้จริงตามความต้องการ ลองนำ 4 ขั้นตอนเหล่านี้ไปใช้งาน เชื่อว่าการทำ Brainstorm ในครั้งหน้า จะเกิดแนวทางและไอเดียใหม่ๆ ขึ้นอย่างแน่นอน